|

ชาติ กอบจิตติ เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2497 ที่บ้านริมคลองหมาหอน ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรคนที่สอง ในจำนวนพี่น้องผู้หญิง 5 คน และผู้ชาย 4 คน รวมเก้าคน ชื่อเดิมคือสุชาติ แต่เขาเห็นว่าคนใช้ชื่อนี้กันมาก จึงเปลี่ยนมาเป็น "ชาติ" พ่อของเขาเป็นพ่อค้าขายเกลือเม็ด ส่วนแม่ขายของเล็กๆน้อยๆ ต่อมาพ่อก็ไปค้าทราย และขายของชำ เขาเริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดใหญ่ บ้านปอ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเอกชัยในจังหวัดเดียวกัน เพราะไปอยู่กับยายชั่วคราว เมื่อพ่อไปค้าทรายที่ราชบุรี เขามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนปทุมคงคาเมื่อ พ.ศ.2509 โดยอาศัยอยู่กับพระซึ่งเป็นเพื่อนของอาที่วัดตะพาน หรือวัดทัศนารุณ มักกะสัน พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปี่สามแล้วก็เรียนต่อเพาะช่าง ในสาขาภาพพิมพ์ เนื่องจากเป็นคนชอบวาดรูป ชอบเขียนหนังสือ ฝันใฝ่ที่จะเป็นนักประพันธ์ เรื่องสั้นเรื่องแรก คือ เรื่อง "นักเรียนนักเลง" เขียนลงในหนังสืออนุสรณ์ปทุมคงคา 2512

เขาแต่งงานเมื่อ พ.ศ.2520 กับเพื่อนสาวที่เรียนจบเพาะช่างมาด้วยกัน ชื่อ รุจิรา เตชะศีลพิทักษ์ ซึ่งต่อมาได้ช่วยกันทำกระเป๋าไปฝากขายตามห้าง ซึ่งมีรายได้ดี เขาทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน ปัจจุบันจึงใช้ชีวิตอยู่เงียบๆที่ไร่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันเขาทำงานด้านการเขียนเพียงอย่างเดียว มีการแนะนำการเขียนหนังสือสำหรับผู้ที่สนใจ และเขาได้ตั้งสำนักพิมพ์ของเขาเอง ชื่อ สำนักพิมพ์หอน โดยเอามาจากชื่อ คลองหมาหอน บ้านเกิดของเขา

เรื่องสั้นเรื่อง ผู้แพ้ ได้รับรางวัล ช่อการะเกด
และรางวัลชมเชยจากการคัดเลือกเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2522จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
เรื่องสั้นกึ่งนวนิยาย เรื่อง ทางชนะ พ.ศ. 2522
นวนิยายขนาดสั้น เรื่อง จนตรอก พ.ศ. 2523
นวนิยายเรื่องคำพิพากษา พ.ศ. 2524
ได้รับรางวัลซีไรท์ ปี 2525 และพิมพ์เผยแพร่มากกว่า20 ครั้ง
เรื่องสั้นขนาดยาว เรื่องธรรมดา พ.ศ. 2526
รวมเรื่องสั้น ชุดที่ 1 มีดประจำตัว พ.ศ.2527
นวนิยายขนาดสั้น เรื่อง หมาเน่าลอยน้ำ พ.ศ. 2530
นวนิยายขนาดยาว เรื่อง พันธุ์หมาบ้า พ.ศ. 2531
รวมเรื่องสั้น ชุดที่ 2 นครไม่เป็นไร พ.ศ. 2532
นวนิยายเรื่อง เวลา พ.ศ. 2536
ได้รับรางวัลซีไรท์ เป็นครั้งที่ 2 ปี 2537
และได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2537 อีกด้วย
ความเรียง-บันทึก เรื่องราวไร้สาระของชีวิต พ.ศ. 2539
เรื่องสั้นขนาดยาว รายงานถึง ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2539
เปลญวนใต้ต้นนุ่น รวบรวมบทความที่เขียนลงในนิตยสาร สีสัน พ.ศ. 2546
และหนังสือที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่
Mad Dogs & Co (พันธุ์หมาบ้า)
NO WAY OUT (จนตรอก)
และ TIME (เวลา)
หนังสือเรื่อง คำพิพากษา สร้างเป็นภาพยนตร์ เปลี่ยนชื่อเป็น "ไอ้ฟัก"
จาก คำพิพากษา วรรณกรรมซีไรต์ของ ชาติ กอบจิตติ มาเป็น ไอ้ฟัก เป็นการนำเสนอในมุมมองใหม่ ด้วยเรื่องราวความรักอันบริสุทธิ์ ที่เป็นรักต้องห้าม ระหว่างคนดีอย่างไอ้ฟัก และคนบ้าอย่างสมทรง ที่นอกจากสติไม่สมประกอบแล้ว ยังเป็นเมียของพ่อ ที่สังคมไทยรับไม่ได้ และร่วมกันประณาม พิพากษาไอ้ฟักว่าผิด จนไม่อาจจะอยู่ร่วมสังคมเดียวกันได้ และยังร่วมกันทำร้ายหนุ่มผู้มีรักอันบริสุทธิ์อย่างไอ้ฟัก
|